"หอบ หืด" โรคเรื้อรัง ที่มักเกิดบ่อย ในหน้าฝน |
โดยปกติผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง มักจะรู้สึกเหมือนคนปกติทั่วไป แต่มักจะมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่มักกำเริบเมื่อมีสาเหตุมากระตุ้น
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบอย่างรุนแรง อาจจะต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง หรืออาจเคยใส่ท่อหายใจเพื่อช่วยชีวิต บางคนอาจต้องใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดกินหรือฉีด อาจต้องใช้ยากระตุ้นเบต้า 2 ชนิดออกฤทธิ์สั้นๆ ต้องสูดมากกว่าเดือนละ 1-2 หลอด ถ้าขาดการรักษาหรือได้รับยาไม่เพีิยงพอในการควบคุมอาการ ผู้ป่วยอาจมีการหอบอย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆถึงเป็นวันๆ แม้จะใช้ยารักษาตามปกติ ที่เคยใช้ก็ไม่ได้ผล เรียกว่า "ภาวะหืดดื้อ"หรือ "ภาวะหืดต่อเนื่อง"
ผู้ป่วยจะมีอากรหายใจลำบาก ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนและมีการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด มีอาการสับสน หมดสติ ในที่สุดก็จะหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น ทำให้เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหอบหืด
โดยทั่วไปโรคหอบหืดจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงและเป็นเรื้อรังอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้
- ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ ปอดแฟบ (Atelectasis) ภาวะหมดแรง (Exhaustion) การติดเชื้อ (ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ)
- ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ได้แก่ ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
- ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง, ภาวะหัวใจล้มเหลวดังที่เรียกว่า “โรคหัวใจเหตุจากปอด” (Cor pulmonale), ภาวะปอดทะลุ, ภาวะมีอากาศในประจันอกและใต้หนัง, เป็นลมจากการไอ (Tussive syncope)
- ภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหอบหืดและไม่สามารถควบคุมอาการได้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกตลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย ทารกตายในระยะใกล้คลอดและหลังคลอด
การป้องกันโรคหอบหืด
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคหอบหืด เพราะโรคนี้มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ในเด็กที่พ่อแม่เป็นโรคหอบหืดลูกก็จะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดได้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่ป้องกันไม่ได้ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดก็สามารถสังเกตอาการของตนเอง ควบคุมไม่ให้มีอาการหอบหืดกำเริบ และใช้ชีวิตอย่างปกติได้ โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ ทั้งในบ้าน ที่ทำงาน และสิ่งแวดล้อม
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- หาทางป้องกันหรือผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่าง ๆ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการ
- ระมัดระวังและป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นไข้หวัดและโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ
- หลีกเลี่ยงการใช้ต้านอักเสบที่ไม่สเตียรอยด์ ยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่มปิดกั้นเบต้า และยาแอสไพริน ที่สำคัญเมื่อไปพบแพทย์ท่านอื่นก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยว่าเป็นโรคหอบหืดอยู่ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้