โรคที่มากับ ปลายฝนต้นหนาว |
แนะวิธีปฏิบัติตัวเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้น เชื้อโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย
โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่มักเป็นกันบ่อย ได้แก่ หอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดโรค
ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อกันได้โดยง่าย เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ปาก และตา มักอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู่ป่วยที่ไอ จาม สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ และอากาศถ่ายเทไม่สะดวกอาการ
ไข้หวัด จะเริ่มด้วยการมีไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ อาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะมีอาการรุนแรงกว่า คือ ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย บางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน โรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด ปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ เป็นต้นหากพบว่าตนเองหรือบุคคลในครอบครัวมีอาการไม่สบาย เป็นไข้หวัด มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ควรให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน หากมีความจำเป็นต้องออกไปในสถานที่สาธารณะ ให้ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและหมั่นสังเกตุอาการ หากมีไข้สูง ให้รับประทานยาลดไข้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และถ้าหากอาการยังไม่ดีขึ้น ไอมากขึ้น มีอาการแน่นหน้าอก มีไข้เกิน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
สำหรับแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อดูแลสุขภาพในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง คือ หมั่นดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในแต่ละวัน งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากส่งผลต่อระบบภูมิต้านทางโรคในร่างกายให้ลดต่ำลงไปทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปรุงอาหารให้สุกก่อนการบริโภค ดื่มน้ำสะอาด รับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก สัปปะรด ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หรือเจลล้างมือทุกครั้ง หลังทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ดูหนัง เข้าห้องน้ำ เป็นต้น อย่าลืมออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
เพียงเท่านี้ คุณและคนใกล้ชิด ก็ห่างไกลจากโรคไข้หวัด