27/5/61

ความดันโลหิตสูง เสี่ยง โรคหัวใจ ไต หลอดเลือดสมอง

ความดันโลหิตสูง เสี่ยง โรคหัวใจ ไต หลอดเลือดสมอง
ความดันโลหิตสูง เสี่ยง โรคหัวใจ ไต หลอดเลือดสมอง
โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญระดับประเทศ เป็นสาเหตุของหลายๆโรคอันตรายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง และอื่นๆ อีกหลายโรค ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ทั้งนั้น
โรคความดันโลหิตสูง เป็นภัยเงียบที่ผู้ป่วยจะไม่มีสัญญาณเตือนหรือแสดงอาการให้เห็นเด่นชัดในช่วงแรก แต่จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้าย ที่มีโรคแทรกซ้อนแล้ว การที่จะตรวจพบโรคความดันโลหิตสูงได้นั้น สามารถเข้ารับการตรวจร่างกาย หรือตรวจสุขภาพประจำปี ตามสถานพยาบาลต่างๆ แต่ถ้าหากเราให้ความสนใจกับความดันโลหิตอยู่เสมอ ก็อาจช่วยป้องกันจากโรคอันตรายเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

  1. ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่ามัว
  2. อ่อนเพลีย เหนื่อย
  3. นอนไม่หลับ
  4. หัวใจเต้นผิดปกติ นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวาย หลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน ไตเสื่อม เส้นเลือดในสมองแตกทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออันตรายถึงชีวิต

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ  พบได้ถึงร้อยละ 80-90 อาจเกิดจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความอ้วน การรับประทานอาหารรสเค็มจัด ความเครียด ขาดการ ออกกำลังกาย การตั้งครรภ์บ่อยครั้ง โรคเบาหวาน การรับประทานยาคุมกำเนิด


วิธีป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

เนื่องจากความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแต่สามารถป้องกันได้ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ความดันโลหิตสูง ดังนี้
  1. ตรวจเช็คร่างกายและวัดความดันโลหิตเป็นประจำ 
  2. พยายามควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วน
  3. ไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัด
  4. รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ
  7. ลดความเครียด ความวิตกกังวล ทำกิจกรรมที่รู้สึกผ่อนคลาย เช่น ฟังเพลง รดน้ำต้นไม้ อ่านหนังสือ งดบุหรี่และสุรา


ทั้งนี้ หากพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงควรรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องเพราะโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย แต่สามารถควบคุมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
10 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันความดันโลหิตสูง

คืออาหารที่มีรสเค็ม หวานจัด หรือมีปริมาณโซเดียม และไขมันที่ไม่ดีสูง เช่น

1. น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรสต่างๆ
2. เต้าเจี้ยว
3. ผักดอง และอาหารดองต่างๆ
4. อาหารแช่แข็ง มักมีปริมาณโซเดียม หรือรสเค็มสูง
5. น้ำอัดลม
6. ลูกอม เยลลี่ ขนมกรุบกรอบรสหวาน
7. มันหมู มันเนื้อ ไก่ติดหนัง
8. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
9. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา
10. ขนมหวาน เช่น เค้ก คุกกี้ โดนัท ไอศกรีม

บางอย่างอาจจะทานได้บ้าง แต่อย่าทานเยอะ หรือทานเป็นประจำทุกวันนะคะ แล้วอย่าลืมหาเวลาออกกำลังกายเป็นประจำด้วย เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น รับรองหากทำได้ ความดันโลหิตสูงไม่ถามหาคุณแน่ๆ ค่ะ