4/12/55

จิตแพทย์ชี้ "ฝาแฝด" ไม่ใช่เงาของกันและกัน


จากละครที่กำลังได้รับความนิยมทั่วบ้านทั่วเมืองขณะนี้ นอกจากจะความสนุกสนานและเข้มข้นของบทละครแล้ว หากดูให้ลึกลงไป ละครเรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของพ่อแม่ที่มีต่อลูก
การเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ส่งผลระยะยาว จนกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดชะตาชีวิตของลูกเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงดูลูกฝาแฝด ย่อมละเอียดอ่อนกว่าการเลี้ยงดูพี่น้องทั่วไป ด้วยความที่พี่น้องฝาแฝดเกิดมาแทบจะพร้อมกัน รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกัน ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่คาดหวังว่าลูกฝาแฝดจะต้องมีบุคลิกและลักษณะนิสัยเหมือน กัน เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น จึงเกิดการเปรียบเทียบ และกลายเป็นปัญหาการเลี้ยงดูได้ในที่สุด
       
       พญ.รัตโนทัย พลับรู้การ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า “ในความเป็นจริงแล้วฝาแฝดก็เหมือนพี่น้องธรรมดาทั่วไป แม้จะมีหน้าตาเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีบุคลิกหรืออุปนิสัยเหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่ มักคาดหวังให้ลูกฝาแฝดเหมือนกันทุกประการ เมื่อคนหนึ่งทำผิด ก็จะนำไปเปรียบเทียบกันลูกอีกคน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาได้"
       
       "คุณพ่อ คุณแม่ควรเข้าใจก่อนว่าพี่น้องทะเลาะกัน เป็นเรื่องธรรมชาติ สำหรับลูกฝาแฝดก็ไม่มีข้อยกเว้น ในทางกลับกัน ฝาแฝดมีแนวโน้มจะทะเลาะกันมากกว่าพี่น้องทั่วไป เพราะยิ่งเด็กมีอายุใกล้เคียงกันมากเท่าไร ทั้งยังเพศเดียวกัน ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าจะทะเลาะกันมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ ควรทำก็คือ ปฏิบัติต่อลูกอย่างเท่าเทียม ซึ่งไม่ได้หมายถึงการแต่งตัวเหมือนกันให้ลูกฝาแฝด หรือบังคับให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษอย่างเดียวกัน แต่หมายถึงการให้ลูกแต่ละคนได้เป็นตัวของตัวเอง โดยมีพ่อแม่ให้ความรัก ความเข้าใจ กำลังใจ และกอดสัมผัสลูกทั้งสองอย่างเท่าเทียมกัน"
       
       พญ.รัตโนทัย ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พ่อแม่ที่มีลูกฝาแฝดยังอาจประสบปัญหาลูกทั้งสองชอบแข่งขันกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเพื่อช่วยลดความขัดแย้ง คือ หากิจกรรมให้ลูกทำร่วมกัน และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องมีการแข่งขัน เช่น หากมีการเล่นเกม ก็ควรให้ลูกอยู่ทีมเดียวกัน โดยมีคุณพ่อหรือคุณแม่เป็นคู่แข่ง แทนที่จะให้ลูกแข่งกันเอง สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรกล่าวชมเมื่อลูกร่วมมือกันทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่าการทำโทษเมื่อลูกขัดแย้งกัน
       
       คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ปกครองต้องไม่ลืมว่า ฝาแฝด ก็คือคนสองคน ชีวิตสองชีวิต ที่มีความแตกต่างในตัวเองแม้เขาจะเกิดมาพร้อมกัน แต่พวกเขาไม่ใช่เงาของกันและกัน ดังนั้นแต่ละคนย่อมมีความชอบ และมีลักษณะนิสัยต่างกันได้ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรคาดหวังให้ลูกฝาแฝด ต้องชอบอะไรเหมือนๆ กัน แต่ควรเปิดโอกาสให้ลูกแต่ละคนเลือกเสื้อฝาที่ตนเองชอบ เข้าร่วมกิจกรรมที่แต่ละคนสนใจ โดยไม่ต้องเปรียบเทียบในข้อบกพร่องของลูกทั้งสอง แต่ให้การสนับสนุนและให้กำลังใจลูกอย่างเสมอภาค ไม่เช่นนั้นแล้ว คุณพ่อคุณแม่นั่นเองที่จะสร้างปมในใจลูก จนกลายเป็นปัญหาพฤติกรรมตามมาได้" พญ. รัตโนทัยกล่าวสรุป

ขอบคุณ : ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์