คงไม่มีเรื่องใดสำหรับพ่อแม่ที่จะเป็นทุกข์หรือเศร้าใจมากไปกว่าการที่เห็นพี่น้องหรือลูกๆ สุดที่รักทะเลาะ หรือขัดแย้งกัน แต่ปัญหานี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว และสามารถคลี่คลายให้เกิดผลดีต่อตัวเด็ก และพ่อแม่ได้ หากมีวิธีจัดการอย่างเหมาะสม
แต่การแก้ปัญหาของพ่อแม่หลายๆ ท่าน เป็นสิ่งที่ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย มองว่า ยังไม่เหมาะสมเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีเปรียบเทียบ หรือเข้าไปตัดสินเด็ก แทนที่จะเข้าไปสอนให้เด็กรู้จักวิธีลดความโกรธ และส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีที่จะหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดผลเสียต่อเด็ก และพ่อแม่ โดยเฉพาะวิธีแก้ปัญหาที่เกิดจากการที่เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่ยุติธรรม หรือรักลูกไม่เท่ากัน
ดังนั้น เด็กควรจะได้รับอิสระให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันเอง เช่น “เมื่อสักครู่นี้ แม่ยังเห็นเล่นกันอยู่ดีๆ เลย แล้วมาทะเลาะกันแบบนี้ ถ้าอย่างนั้น เล่นกันต่อนะ แม่เชื่อว่า ลูกเป็นพี่น้องกัน ลูกของแม่จะต้องแก้ปัญหากันเองได้” แต่ถ้าเห็นว่า มีการทำร้ายร่างกายกัน ให้เข้าไปจับแยก และสอนว่า บ้านเราไม่ตีกันแบบนี้ หรือลองใช้วิธีให้น้องถามพี่ดูสิว่า พี่จะเล่นอีก 1 หรือ 2 นาที ถ้าบอกว่า อีก 2 นาทีให้ตั้งเวลาเล่นเลย ครบ 2 นาทีแล้วเปลี่ยนมาให้น้องเล่นบ้าง พอน้องเล่น ก็ให้พี่ถามเลยน้องเช่นเดียวกันว่า จะเล่นกี่นาที เป็นต้น” ดร.ปนัดดา ให้แนวทาง
นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีช่วยลดความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง โดยเฉพาะปัญหาการแย่งของเล่น คือ ควรให้ลูกแต่ละคนเป็นคนเลือกของเล่นด้วยตัวเอง คุณพ่้อคุณแม่ไม่ควรเลือกซื้อมาให้เหมือนๆ กัน เพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาแย่งของเล่นเกิดขึ้นได้ แต่การมีของเล่นต่างชิ้นกัน ถ้าเกิดปัญหาแย่งของเล่น สามารถใช้วิธีแลกกันเล่นได้
ส่วนในกรณีที่เห็นจะจะว่าพี่เป็นฝ่ายตีน้อง ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยท่านนี้ บอกว่า สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำ คือ ไม่ควรดุ หรือเข้าไปตีคนพี่ แต่ควรพุ่งความสนใจไปยังคนที่ถูกกระทำก่อน เช่น “เจ็บไหมลูก ถ้าเป็นแม่ แม่จะไม่ตีหนูแบบนี้แน่นอน ไหนเจ็บตรงไหน มาให้แม่ดูหน่อยสิจ้ะ” ซึ่งการให้ความสนใจกับฝ่ายที่ถูกกระทำ และพยายามพูดคุยด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ทำให้ลูกอีกคนเรียนรู้ว่า ถ้าตีน้อง เขาจะไม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่ จากนั้นเมื่อลูกอารมณ์เย็นขึ้น ค่อยสอนต่อไป ว่า “ตีน้องแบบนี้ไม่ได้นะคะ หนูมีสิทธิ์โมโหได้ แต่โมโหแล้ว เราต้องไม่ตีค่ะ ครั้งหน้าถ้าหนูโมโห ขอให้เดินมาหาแม่ เดี๋ยวแม่เล่นกับหนูให้หายโมโหเอง แต่ถ้าโมโหแล้วตีน้องแบบนี้ บ้านเราไม่ทำนะคะ” หรือในกรณีที่น้องตีพี่ก็ใช้วิธีเดียวกัน
การทะเลาะกันของพี่น้องจะหนักหนาสาหัสขึ้น หรือทำให้เกิดความร่วมมือกันได้ ขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นสำคัญครับ
ขอบคุณ : ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์