ท้องไตรมาสไหน ต้องกินอะไร? |
ระยะแต่ละไตรมาส ควรดูแลอย่างไร
ไตรมาสที่ 1 (ช่วงเดือนที่ 1-3)
ในช่วง 3 เดือนแรก คุณแม่ไม่ควรทานอาหารในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพราะระยะนี้ทารกเพิ่งจะเริ่มมีลักษณะเป็นตัว มีขนาดเล็กนิดเดียว คุณแม่ควรเพิ่มสารอาหารที่จำเป็น เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ วิตามิน เกลือแร่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดโฟลิกที่ได้จากผักใบเขียว เพราะโฟลิกเป็นสารอาหารจำเป็นที่ช่วยพัฒนาระบบประสาท ช่วยป้องกันความผิดปกติของของสมองและไขสันหลัง คุณแม่ที่ขาดกรดโฟลิกจะมีโอกาสที่คลอดลูกแล้วมีความพิการทางสมองมากกว่าปกติ แต่หากคุณแม่ที่เคยคลอดลูก แล้วลูกมีความพิการทางสมอง เช่น ไม่มีกะโหลกศีรษะ เมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไปหากให้รับประทานโฟลิกตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนครบ 3 เดือน จะสามารถป้องกันความพิการทางสมองของลูกน้อยในครรภ์ได้
|
ไตรมาสที่ 2 (ช่วงเดือนที่ 4-6)
ระยะนี้ทารกเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็วค่ะ อวัยวะต่างๆ ของลูกน้อยจะขยายขนาดขึ้น มีเล็บ มีผม มีขนคิ้ว ส่วนสมองก็เป็นช่วงที่มีพัฒนาการมากขึ้น ลูกเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายได้ คุณแม่จึงต้องการอาหารมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับการพัฒนาเซลล์ที่ขยายขนาดขึ้น คุณแม่ควรทานผักและผลไม้เพื่อเพิ่มเส้นใยอาหาร เพราะในช่วงตั้งครรภ์ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายของคุณแม่เพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณท้องหย่อนลง ทำให้ท้องผูกได้ เมื่อลูกน้อยในครรภ์กำลังขยายขนาดของเซลล์ ร่างกายจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการอาหารในปริมาณมาก โดยเฉพาะธาตุเหล็กร่างกายคุณแม่ต้องการเลือดมากขึ้นเพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารส่งต่อไปยังลูกน้อยในครรภ์ จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารที่ช่วยบำรุงเลือด ช่วยสร้างให้มีจำนวนเม็ดเลือดแดงเพียงพอ เพื่อป้องกันอาการโลหิตจาง ภาวะซีดที่อาจจะเกิดกับคุณแม่ นอกจากนี้คุณแม่ควรได้รับวิตามินซีควบคู่กันไป เพราะวิตามินซีมีช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็กให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม มะนาว กีวี ฝรั่ง
ไตรมาสที่ 3 (ช่วงเดือนที่ 7-9)
ตอนนี้ท้องคุณแม่ใหญ่จนอุ้ยอ้ายแล้วค่ะ เนื่องจากขนาดของลูกน้อยที่โตจนภายในช่องท้องของคุณแม่คับแคบ คุณแม่จึงไม่สามารถทานอาหารเพิ่มได้ครั้งละมากๆ จึงควรเพิ่มมื้ออาหาร จากมื้อหลัก 3 มื้อ ควรเพิ่มเป็น 4-5 มื้อ เคี้ยวให้ละเอียด และรับประทานให้ช้า คุณแม่อาจจะมีอาหารว่างพกติดตัวไว้เสมอ เช่น กล้วย ส้ม ขนมปังกรอบ ถั่วอบแห้ง นอกจากนี้คุณแม่จะต้องกินเพื่อสำรองสารอาหารไว้เพื่อช่วยสร้างน้ำนมด้วย โดยเฉพาะแคลเซียมและฟอสฟอรัส เป็นสารอาหารที่ช่วยพัฒนาการของกระดูกและฟันให้กับลูกน้อย และยังมีส่วนช่วยลดการเกิดตะคริวให้คุณแม่ โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด กระดูกและฟันจะถูกสร้างมากที่สุด คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงมากขึ้นกว่าเดิม โดยรับประทานวันละ 1,200 มิลลิกรัม
|