25/9/65

ภาวะโรคซึมเศร้า กับคนรอบข้าง

ภาวะโรคซึมเศร้า

 โรคซึมเศร้า หรือ depression illness เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นโรคนี้จำนวนไม่น้อย บางคนเป็นโรคนี้ โดยที่ตัวเองไม่ทราบ คิดว่าเป็นเพราะตนเองคิดมากไปเองก็มี ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที 

โรคซึมเศร้า เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ที่เรียกว่า " เซโรโทนิน (Serotonin) " มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทั้งทางร่างกาย จิดใจและความคิด ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล และหากปล่อยไว้ อาจทำให้ผู้ป่วยคิดสั้นฆ่าตัวตายได้

สำหรับคนส่วนใหญ่ คำว่า "โรคซึมเศร้า" เรามักนึกกันว่าเป็นเพียงเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากความผิดหวัง หรือการสูญเสียมากกว่าที่จะเป็นโรค ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว อารมณ์ ความรู้สึก ที่มีกันในชีวิตประจำวัน จะมากบ้างหรือน้อยบ้าง ก็แล้วแต่ว่าเราจะพบเจอกับอะไร อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง ถ้าอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้เรารู้สึกเศร้าอยู้นาน โดยไม่ดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง และมีอาการต่างๆตามมา เช่น นอนหลับๆตื่นๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก หมดความสนใจต่อสิ่งรอบข้าง ไม่คิดอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็อาจเข้าข่ายของโรคซึมเศร้า

การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาจเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น มีเหตุการณ์มากระทบรุนแรง อาการหลักๆที่บ่งบอกว่า อาจจะทำให้เป็นโรคซึมเศร้า เช่น รู้สึกเบื่อเศร้าอย่างรุนแรง ท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า นอนหลับไม่สนิท หลับๆตื่นๆ เป็นต้น

สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยง ที่อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

  1. ความเครียดสะสม
  2. การสูญเสียครั้งใหญ่
  3. สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดู
  4. ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ราบรื่น
  5. ความเสี่ยงทางพันธุกรรม

อาการแบบไหนเสี่ยงโรคซึมเศร้า

  1. อารมณ์เปลี่ยนไป ที่จะพบบ่อยก็คือ กลายเป็นคนซึมเศร้า หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อยครั้ง อ่อนไหวกับทุกเรื่อง บางคนอาจไม่มีอารมณ์เศร้าชัดเจน แต่จะไม่แจ่มใส ไม่สดชื่น เหมือนเดิม สิ่งใดที่เคยทำแล้วสนุก ทำแล้วสบายใจ ก็รู้สึกไม่อยากทำหรือทำให้ไม่รู้สึกเหมือนเดิม บางคนหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย กลายเป็นคนอารมณ์ร้าย ดูอะไรก็ขวางหูขวางตาไปหมด
  2. ความคิดเปลี่ยนไป มองอะไรก็รู้สึกแย่ไปหมด ไม่มีใครช่วยได้ มองไม่เห็นทางออก มองอนาคตไม่เห็น ท้อแท้หมดหวังในชีวิต กลายเป็นคนไม่มั่นใจในตนเอง ตัดสินใจไม่ได้ลังเลทุกเรื่อง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไร้ความสามารถ รู้สึกเป็นภาระให้คนอื่น สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยคิดเรื่องการตายอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงระยะนี้ หากมีอะไรหรือเหตุการณ์มากระทบกระเทือนจิตใจ อาจเกิดการทำร้ายตนเองจากอารมณ์ชั่ววูบ
  3. ความจำแย่ลง หลงลืมง่าย โดยเฉพาะกับเรื่องใหม่ๆ เช่น วางของไว้ที่ไหนก็นึกไม่ออก จิตใจเหม่อลอย เพิ่งพูดอะไรก็นึกไม่ออก ไม่มีสมาธิ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดๆถูกๆ เป็นต้น
  4. อาการทางร่างกาย ที่พบบ่อยที่สุดคือ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง จะพบร่วมกับอารมณ์ความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร มักจะหลับยาก นอนไม่เต็มอิ่ม หลับๆตื่นๆ  เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก อาจมีอาการท้องผูก แน่นท้อง ปากคอแห้ง 
  5. ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป ผู้ป่วยจะดูซึมลง ไม่ร่าเริงแจ่มใส จะเก็บตัวมากขึ้น ไม่พูดจากับใคร กลายเป็นคนใจน้อย อ่อนไหวง่าย ทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจว่าทำไมเปลี่ยนไป บางคนอาจหงุดหงินบ่อยกว่าเดิม 
  6. อาการทางจิต จะพบในรายที่เป็นรุนแรง ได้แก่ อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วย ที่พบบ่อยคือ จะเชื่อว่ามีคนคอยกลั่นแกล้ง หรือประสงค์ร้ายต่อตนเอง อาจมีอาการหูแว่วเสียง อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้มักเป็นชั่วคราว เมื่อได้รับการรักษา อารมณ์เศร้าดีขึ้น อาการโรคจิตก็มักทุเลาตาม

วิธีการรักษา โรคซึมเศร้า

มีทั้งวิธีการรักษาโดยการใช้ยา การใช้จิตบำบัด การปรับมุมมองเปลี่ยนความคิด การปรึกษาจิตแพทย์ วิธีการักษาต้องได้รับการประเมินโดยแพทย์เท่านั้น
นอกจากนี้ การให้กำลังใจจากครอบครัว คนใกล้ชิด เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสคิดสั้นฆ่าตัวตายสูง หากมีเรื่องกระทบกระเทือนใจแม้เพียงนิดเดียว จากสถิติพบว่า มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายมีภาวะของโรคซึมเศร้าด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, กระทรวงสาธารณสุข