กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่เกิดขึ้นในเด็ก |
สาเหตุของการเกิดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็ก
มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่พบในระบบลำไส้ โดยปกติแล้วกระเพาะปัสสาวะจะมีกลไกในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกมาทางปัสสาวะเอง แต่ในบางครั้งร่างกายเด็กก็ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียได้ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากนิสัยการเข้าห้องน้ำของเด็กที่ใช้กระดาษชำระเช็ดผิดวิธี คือ เช็ดขึ้นจากทวารหนักมาที่อวัยวะเพศ หรือในเด็กทารกที่ยังใช้ผ้าอ้อม และอุจจาระซึมเปื้อนบริเวณอวัยวะเพศ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคบริเวณทวารหนักโดยเข้าไปในท่อปัสสาวะและเกิดการติดเชื้อขึ้นปัจจัยเสี่ยง ในการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็ก
ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงอยู่ใกล้ทวารหนักมากกว่า จึงเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย สำหรับในเด็กบางรายที่มีอาการเสี่ยงในการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื่องมาจากปัญหาดังต่อไปนี้
- อาการท้องผูกในเด็กที่อาจส่งผลต่อลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่เกิดการบวมจนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ จึงไม่สามารถปัสสาวะได้ตามปกติ
- ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับ เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้ปัสสาวะไหลย้อนกลับไปที่ท่อไตจนเกิดการติดเชื้อขึ้นบ่อยครั้ง
- ภาวะความผิดปกติในการขับถ่ายทำให้เด็กกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ
นอกจากนี้ การใช้ห้องน้ำที่ไม่สะอาด มีสุขอนามัยไม่ดี หรือหากคนในครอบครัวมีประวัติป่วยด้วยภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เด็กอาจเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน
อาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็ก
ทารกและเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะมีเพียงอาการไข้ที่ไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ผู้ปกครองไม่ทราบว่าเด็กเกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ แต่ในบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น- ร้องไห้ในขณะปัสสาวะ
- งอแงหรือหงุดหงิดผิดปกติ
- ไม่ยอมรับประทานอาหาร
- ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติ มีสีขุ่น หรือมีเลือดปน
- มีอาการอาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย
- รู้สึกเจ็บหรือปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อยหรือมีการกลั้นปัสสาวะ
- มีพฤติกรรมการเข้าห้องน้ำผิดปกติ เช่น ปัสสาวะราด หรือ ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น
- มีอาการปวดท้องหรือปวดหลังส่วนล่าง
- ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีสีขุ่น หรือมีเลือดปน
วิธีการรักษาในเด็ก
แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก โดยให้รับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 3-10 วัน ในกรณีที่เป็นเด็กโต ซึ่งระยะเวลาในการใช้ยานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ ส่วนเด็กเล็กที่กินหรือดื่มนมไม่ได้ และมีอาการเซื่องซึม แพทย์จะแนะนำให้เด็กเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถรับประทานยาเองได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาพาราเซตามอลสำหรับลดไข้และบรรเทาอาการเจ็บปวดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ระหว่างนี้ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยขับแบคทีเรียออกจากท่อปัสสาวะและทำให้หายเร็วขึ้นภาวะแทรกซ้อนจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบในเด็ก
ในรายที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถหายได้โดยไม่มีอาการแทรกซ้อนตามมาภายหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ในบางรายอาจส่งผลทำให้ไตเกิดความเสียหายหรือมีความดันโลหิดสูงได้ ดังนั้น แพทย์จึงอาจแนะนำให้เด็กเข้ารับการตรวจเป็นระยะตามความเหมาะสม โดยตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในเรื่องของความดันโลหิตและตรวจปัสสาวะ จนกว่าจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นทั้งนี้ หากเด็กมีปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบติดต่อกันบ่อยครั้ง ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจโดยละเอียด เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากความผิดปกติที่เกี่ยวกับไต ท่อไตหรือโครงสร้างของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งหากตรวจพบเร็วก็จะช่วยให้รักษาได้อย่างทันท่วงที