ประโยชน์ของ "เห็ดหลินจือ" |
เพื่อรักษาหรือบำรุงสุขภาพในประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากเชื่อว่าสารประกอบภายในเห็ดมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
ในเห็ดหลินจือมีสารอาหารที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพมากมาย จำพวกเส้นใยต่าง ๆ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เซเลเนียม ธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง สารโมเลกุลชีวภาพที่สำคัญ อย่างเช่น สเตียรอยด์ (Steroids) เทอร์ปีนอยด์ (Terpenoids) ฟีนอล (Phenols) นิวคลีโอไทด์ (Nucleotides) ไกลโคโปรตีน (Glycoproteins) พอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) และสารอนุพันธ์อื่น ๆ โดยเฉพาะกรดอะมิโนไลซีน (Lysine) และลิวซีน (Leucine)
ตัวอย่างงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเห็ดหลินจือที่อาจมีผลต่อสุขภาพ
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
งานค้นคว้าหนึ่งได้ทดลองหาประสิทธิผลและความปลอดภัยของการบริโภคอาหารเสริมเห็ดหลินจือในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำนวน 32 ราย ผลลัพธ์คือ เห็ดหลินจืออาจมีสรรพคุณในด้านการระงับอาการปวด ปลอดภัยต่อการรับประทานเข้าสู่ร่างกายและไม่มีผลข้างเคียง
- เพิ่มสมรรถภาพร่างกาย
มีการทดลองที่ทดสอบประสิทธิภาพของเห็ดหลินจือในด้านการเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย โดยได้ทดลองในผู้ป่วยโรคปวดกล้ามเนื้อไฟโบรไมอัลเจีย (Fibromyalgia) เพศหญิงจำนวน 64 ราย ตลอดระยะเวลาการทดลอง 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยบริโภคเห็ดหลินจือปริมาณ 6 กรัม/วัน จากนั้นจึงทดสอบสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย ผลการทดลองคือ เห็ดหลินจืออาจสัมพันธ์กับความทนทานของร่างกายในขณะออกกำลังกายและความยืดหยุ่นของร่างกายในผู้ป่วยโรคปวดกล้ามเนื้อไฟโบรไมอัลเจีย ซึ่งอาจเป็นผลดีในการค้นคว้าทดลองและวางแผนการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ต่อไป
- ต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน และป้องกันการทำลายเซลล์ตับ
จากการทดลองหาประสิทธิภาพของสารไตรเทอร์พีนอยด์ (Triterpenoids) และโพลีแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) ในเห็ดหลินจือในด้านการต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน และการป้องกันการทำลายเซลล์ตับในกลุ่มผู้ทดลองที่มีสุขภาพดี 42 คน ผลลัพธ์ที่ได้แสดงถึงประสิทธิภาพของเห็ดหลินจือในการช่วยต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบของตับ
- รักษามะเร็ง
อีกหนึ่งงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิผลของสารโพลีแซ็กคาไรด์ในเห็ดหลินจือในผู้ป่วยมะเร็งปอด จากการวิเคราะห์พบว่า สารดังกล่าวมีส่วนในการยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว
จากการค้นคว้าวิจัยมากมายถึงประสิทธิผลทางการรักษาโรคมะเร็งของเห็ดหลินจือ พบว่าเห็ดหลินจืออาจส่งผลต่อการต้านการอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งปอดบางราย แต่ยังคงไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการทดลองทางการแพทย์ที่ให้ข้อมูลเพียงพอที่สนับสนุนให้ใช้เห็ดหลินจือในการรักษามะเร็งอย่างเป็นทางการ
- ภาวะต่อมลูกหมากโต และการเจ็บป่วยในระบบทางเดินปัสสาวะ
มีกระบวนการทดลองหนึ่งที่ใช้สารสกัดจากเห็ดหลินจือทดลองในผู้ป่วยเพศชาย 88 รายซึ่งมีอายุเกินกว่า 49 ปีขึ้นไป ที่มีอาการปัสสาวะติดขัด หลังการทดลองกว่า 12 สัปดาห์ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้ป่วยต่างมีระดับคะแนน IPSS ที่ดีขึ้น (The International Prostate Symptom Score) ซึ่งเป็นค่าคะแนนสากลในการวัดปัญหาในระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ป่วยจากการตอบคำถาม
ความปลอดภัยในการบริโภคเห็ดหลินจือ
แม้จะมีการพิสูจน์ถึงคุณประโยชน์ในบางด้านที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคเห็ดหลินจือ แต่ผู้บริโภคก็ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดหลินจือ และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรระมัดระวังในด้านปริมาณและรูปแบบเห็ดหลินจือที่บริโภค เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ในภายหลัง
ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.pobpad.com/เห็ดหลินจือกับประโยชน์