การวิจัยใหม่พบว่า ความเสี่ยงของเด็กทารกในการพัฒนาของจุดแบนบนศีรษะ เกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นสาเหตุสำคัญมากกว่ายีน
การศึกษาครั้งนี้ได้ถูกเผยแพร่ในวารสารเกี่ยวกับเด็กทารก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทารกมากกว่า 20,000 คน เข้ารับการรักษาอาการกะโหลกศีรษะผิดรูปโดยจุดที่ชัดเจนที่สุดคือ บริเวณด้านหลังศีรษะ ซึ่งอาการนี้เกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น การถูกอัดแน่นอยู่ในครรภ์ การตั้งครรภ์แฝด และหลังจากคลอดแล้ว จากการถูกกดทับซ้ำๆ บริเวณศีรษะ การนอนทับศีรษะในตำแหน่งเดิมๆ หรือการนอนในที่นั่งสำหรับเด็กอ่อนนานเกินไปก็ทำให้เกิดอาการนี้ได้
นอกจากนี้ ในการศึกษาครั้งใหม่ นักวิจัย ยังพบว่าการมีลูกแฝดจะมีผลทำให้ทารกมีความเสี่ยงสูงต่ออาการนี้ แต่ปัจจัยทางพันธุกรรมก็ไม่สามารถอธิบายแนวโน้มการเกิดของโรคศีรษะผิดรูปที่เกิดขึ้นในบางครอบครัวได้
ในทางกลับกัน ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมกลับมีผลต่อการเกิดอาการกะโหลกศีรษะผิดรูปของทารกมากกว่า อย่างตำแหน่งในครรภ์และท่านอนของทารก คือทารกที่มักจะนอนหันศีรษะไปทางขวาบ่อยๆ จะทำให้ศีรษะด้านขวาแบน ขณะที่ทารกที่มักจะหันไปทางด้านซ้าย ก็จะทำให้ศีรษะด้านซ้ายแบน
ศาสตราจารย์เบรน ซี เวอร์เรลลี หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาริโซนา กล่าวว่าพันธุกรรมหรือยีนมีผลต่อการทำให้เกิดการผิดรูปของกะโหลกศีรษะทารก แต่ไม่ได้หมายถึงปัจจัยที่ เกิดจากยีนตัวใดตัวหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีผล
คุณพ่อคุณแม่สามารถหาทางป้องกันได้และง่ายต่อการรักษา โดยในช่วงเวลาที่ลูกนอนควรพลิกตัวหรือกลับด้านศีรษะให้ หรือในบางกรณีอาจป้องกันโดยการสวมหมวกให้ทารก ในช่วงแรกๆ เพื่อช่วยในการปรับเปลี่ยนรูปทรงของกะโหลกศีรษะขณะที่กำลังเจริญเติบโตไม่ให้บิดเบี้ยวหรือผิดรูป
ด้านกุมารแพทย์แนะนำว่าทารกควรได้รับการดูและเอาใจใส่เป็นอย่างมากตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์จนกระทั่งหลังคลอด โดยเฉพาะเรื่องการนอน เมื่อทารกตื่นนอนแล้วควรหลีกเลี่ยงการปล่อยให้นอนอยู่ในเปลหรือเบาะนอนเป็นเวลานานๆ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอาการกะโหลกศีรษะผิดรูปแล้ว เด็กทารกที่นอนคว่ำเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตกะทันหันในขณะนอนหลับด้วย