20/9/55

ขัดแย้งอย่างไรให้เกิดความสร้างสรรค์ไม่มีความแตกร้าว


ณ แห่งหนึ่งแถวถนนโชคชัย 4 ซอย 75 เมื่อเวลาที่เราเดินเข้าไปแล้ว จะเห็นว่าทางซ้ายมือมีอนุสาวรีย์รูปร่างแปลกๆ หลายคนเดินผ่านไปผ่านมาไม่ได้ให้ความสนใจ แต่จริงๆ แล้วสถาปัตยกรรมชิ้นนี้มีความหมายซ่อนเร้นให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของความเป็นครอบครัว คือ กลมเกลียว


ทำไมครอบครัวต้องอยู่อย่างกลมเกลียว
ทำไมไม่ทำอะไรให้ง่ายๆ ด้วยการเอาลูกกลมๆ วางบนแท่งเกลียวๆ อันเดียวก็จบ ก็เพราะลูกกลมแต่ละลูกนั้นบ่งบอกคนแต่ละรุ่น (Generation) ลูกใหญ่ข้างล่างก็คือปู่ย่าตายาย เหนือขึ้นมาก็เป็นรุ่นพ่อแม่ ถัดไปก็เป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน แปลว่าคนที่เกิดมาก่อนจะต้องทำหน้าที่ค้ำจุนคนที่เกิดมาภายหลัง

ในอนาคตลูกกลมๆ จะไหลลงและใหญ่ขึ้น ก็หมายถึงการเติบโตของแต่ละรุ่น จากหลานก็กลายเป็นลูก ลูกก็เป็นพ่อแม่ พ่อแม่ก็เป็นปู่ย่าตายาย...คนสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ นับว่าความคิดสุดยอดจริงๆ

สรุปว่า ครอบครัวต้องอยู่กันด้วย ‘ความกลมเกลียว’ เราไม่ได้อยู่กันด้วยความแหลมคม’ บางครั้งคนเก่งอยู่ด้วยกันก็ใช้คำพูดทิ่มแทงกันให้อีกฝ่ายเจ็บปวด แทนที่จะอยู่กันอย่างมีความสุข กลายเป็นมองหน้าไม่ติด อยู่ใกล้แล้วอึดอัดรำคาญใจ

อุปกรณ์ที่เราใช้เพื่อสร้างความสอดประสานกลมเกลียวหรือทำร้ายกันให้เจ็บปวด คือการสื่อสารไม่ว่าจะด้วย “คำพูดหรือถ้อยคำ” (Verbal Expression) กับ “น้ำเสียง แววตา สีหน้า และท่าทาง” (Non-verbal Expression)

ถ้าเราใช้คำพูด น้ำเสียง แววตา สีหน้า ท่าทาง ที่สามารถสื่อสารให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความสบายใจ ผ่อนคลาย อย่างนี้เรียกว่า ‘สื่อสารทางบวก’ ทำอย่างนี้บ่อยๆ ร่างกายเราก็จะเปล่งรัศมีแห่งความเมตตาโดยรอบ ใครอยู่ใกล้ก็มีความสุข ในทางตรงข้ามถ้า ‘สื่อสารทางลบ’ เราก็แผ่รังสีอำมหิต คนอยู่ใกล้แล้วเครียด บางคนมีปัญหาที่น้ำเสียง เวลาพูดเหมือนสั่ง เวลาสั่งเหมือนจิกหัวใช้ เจอแบบนี้มีแต่คนอยากถอยหนีให้ห่างๆ

แม้หลายครั้งที่ความคิดเห็นเราแตกต่าง แต่ถ้าเรายังสื่อสารทางบวกต่อกัน อย่างนี้รับรองว่าไม่มีปัญหาอย่างเด็ดขาด ที่สำคัญทุกวันนี้แม้หลายกรณีที่เป็นความรู้สึกดีๆ แต่สื่อสารกันทางลบ กลับทำให้เสียความสัมพันธ์

เทคนิคสื่อสารเชิงบวก
เมื่อไรก็ตามที่คนสองคนมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน จะสื่อสารกันอย่างไรที่นำไปสู่ข้อสรุป โดยไม่เกิดความหมางใจกัน ลองใช้เทคนิคเหล่านี้ดูสิครับ

1. อย่าคุยกันตอนที่มีอารมณ์ขุ่นเคืองใจ เพราะอารมณ์จะปรากฏทางน้ำเสียง เวลาพูดจะเหมือนตวาด ตะคอก ตะโกนใส่ ทำให้อีกฝ่ายอารมณ์เสีย ภรรยาหลายคนชอบยืนเผชิญหน้าสามีแล้วพูดว่า “มา มาคุยกันให้รู้เรื่องเดี๋ยวนี้” แล้วก็จบด้วยการทะเลาะกัน เพราะอารมณ์มาบดบังเหตุผล คำพูดเต็มไปด้วยข้ออ้างเพื่อกล่าวโทษให้อีกฝ่ายเป็นคนผิด ทางที่ดีควรจัดการกับอารมณ์โกรธให้ผ่อนคลายเสียก่อนแล้วค่อยคุยกันตอนที่เราสบายใจกันแล้วทั้งสองฝ่าย

2. ฟังความคิดของอีกฝ่ายให้ “ถึงใจ” ที่สุด คือพยายามเข้าใจความคิดของเขา โดยอย่าเพิ่งเอาความเห็นของเราไปด่วนสรุปว่าเราถูก เพราะฉะนั้นเขาผิด เพราะบางทีสิ่งเดียวกัน มองคนละมุมก็เห็นแตกต่างกันได้

3. เลือกใช้ถ้อยคำที่สุภาพที่สุด ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะที่สุด มโนกรรมจะคิดลบหรือขุ่นเคืองเพียงใด ถ้าวจีกรรมยังเป็นบวกอยู่ ก็ไม่มีวันที่การทะเลาะจะเกิดขึ้นได้

4. ถ้าคุยกันด้วยเหตุผลแล้วยังไม่ได้ผล ให้คุยกันด้วยอารมณ์คือความรัก เพราะถ้าเรารักกันแล้ว อะไรๆ เราก็ยอมกันได้

5. คุยกันเสร็จแล้ว ปิดท้ายด้วยกิจกรรมดีที่ทำด้วยกัน เช่น ไปกินอาหารอร่อยๆ ไปร้องเพลงคาราโอเกะ ดูหนัง หรือฟังคอนเสิร์ตก็ยังได้ บรรยากาศที่ดีจะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีๆ ต่อกัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะจะช่วยขจัดขยะทางความคิดและมลพิษทางอารมณ์ให้หมดไปจากใจของเราได้

แน่นอนว่าคนที่อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายกับลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน พ่อแม่กับลูก หรือสามีภรรยา ย่อมต้องมีคำพูดคำจากระทบกระทั่งกันบ้าง จนมีคำพูดที่คุ้นปากกันว่า “ลิ้นกับฟันอยู่ใกล้กัน ย่อมกระทบกระทั่งกันบ้าง” แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยเสียทีเดียว เพราะลิ้นไม่เคยทำร้ายฟัน

ผมกลับเห็นว่า คนที่อยู่ด้วยกันเปรียบเหมือนนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ที่ต้องสัมผัสกันเสมอ หากนิ้วทั้งสองใช้ “เล็บจิกเนื้อ” ก็อยู่กันด้วยความเจ็บปวด เพราะฉะนั้นจงฝึก ใช้ส่วนเนื้อนุ่มๆ ประกบเพื่อหยิบจับสิ่งต่างๆเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต


จาก:นิตยสาร Modern Mom
 โดย: นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล