“กล้วย”
มักถูกเปรียบเปรยให้นึกถึงอะไรที่ทำได้ง่ายดาย สำนวนที่ว่า “ปอกกล้วยเข้าปาก” หรือ
“เรื่องกล้วยๆ” จึงคุ้นหูเราๆ ท่านๆ เมื่อพูดถึงการทำอะไรง่ายๆ
แต่ในแง่ของสุขภาพนั้น “กล้วย” จัดเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยคุณค่าด้านโภชนาการที่หลายคนมักมองข้ามกันไป
ทั่วโลกมีกล้วยมากกว่า
100 สายพันธุ์
แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “กล้วยหอม”
ในเมืองไทยของเราก็มีกล้วยนานาพันธุ์ให้เลือกรับประทาน ทั้งกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า
กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง และอื่นๆอีกมากมาย
“กล้วยสุก”
มีคาร์โบไฮเดรตถึง 22% เพราะฉะนั้นการรับประทานกล้วยแทนอาหารเย็น
จึงเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะคาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่อยู่ในรูปของน้ำตาล
ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของ”ความอ้วน” กล้วยยังอุดมไปด้วยเกลือแร่
คือเป็นแหล่งวิตามินเอ บี และ ซี
ชาวอินเดียใช้แป้งจากกล้วยบางชนิดทำ
“จาปาตี” ซึ่งเป็นโรตีจืด มีสรรพคุณคือ ลดอาการท้องอืด หรือธาตุพิการ
และยังใช้แป้งจากกล้วยผสมนมสด
ใช้เป็นอาหารที่ย่อยง่ายในผู้ป่วยกระเพาะอักเสบได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้
ใน “กล้วยดิบ” จะมีสารแทนนิน
ที่สามารถรักษาอาการท้องเดินชนิดไม่รุนแรงได้
วิธีใช้คือใช้กล้วยน้ำว้าห่ามรับประทานดิบ ครั้งละครึ่งถึงหนึ่งผล
หรือใช้กล้วยน้ำว้าดิบฝานเป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผงใช้ชงน้ำร้อนดื่ม
ครั้งละครึ่งถึงหนึ่งผล ควรงดอาหารทุกชนิด ประมาณ 2 มื้อ เพื่อให้ท้องได้พักตัว นอกจากใช้ “กล้วยดิบ”
ระงับอาการท้องเดินแล้ว ก็ยังใช้ “กล้วยสุก” เป็นยาระบายได้ด้วย เนื่องจาก
“กล้วยสุก” มีเพคตินสูง ช่วยให้ถ่ายคล่อง
ฉะนั้นหันมารับประทาน
“กล้วย” กันเถิด เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมผลไม้ไทยแล้ว
ยังดีต่อสุขภาพด้วยนะครับ
ขอขอบคุณ : ข้อมูลจากกรมการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข