"เกาต์" กับไก่ เป็นเพื่อนหรือเป็นศัตรูกันแน่?? |
กรดยูริค คืออะไร??
กรดยูริค ส่วนใหญ่ร่างกายจะสร้างได้ด้วยตนเอง มีเพียงแค่ไม่ถึง 20% ที่จะได้รับจากอาหาร คนปกติจะมีค่ากรดยูริคในเลือดไม่เกิน 7 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ส่วนหญิงในวัยที่ยังมีประจำเดือนจะมีระดับไม่เกิน 6 มิลลิลิกรัม/เดซิลิตร หากมีค่าสูงเกินกว่าระดับดังกล่าว ถือว่ามีภาวะกรดยูริคสูงภาวะกรดยูริคสูงมักมีความสัมพันธกับภาวะอ้วน,พันธุกรรมในครอบครัว,ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะและยาแอสไพริน รวมถึงโรคร่วมอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง อาหารที่มีกรดยูริคสูง และเหล้าเบียร์ ดังนั้น ควรลดน้ำหนักตัว,งดเหล้า-เบียร์ และลดปริมาณอาหารที่มีกรดยูริคสูง
คนที่มีระดับกรดยูริคสูงจนเป็นโรคเกาต์หรือเป็นนิ่วในไต มีเพียงร้อยละ 10-20% เท่านั้น
อาการของโรคเกาต์ แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
- ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นที่ข้อหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า จะปวดบวมแดงรุนแรงใน 24 ชั่วโมงแรก สามารถหายได้เองภายใน 5-7 วัน และส่วนใหญ่จะเป็นซ้ำๆ
- ระยะไม่มีอาการ หลังจากระยะแรกหายแล้ว ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆเลย
- ระยะเรื้อรัง หลังจากมีอาการซ้ำๆเป็นระยะเวลา 3-5 ปี ข้ออักเสบจะมีจำนวนมากขึ้น และเริ่มลามมาที่ข้ออื่นๆในร่างกาย และจะเกิดก้อนจากผลึกของกรดยูริคขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ อาจแตกเห็นเป็นผงขาวนวลคล้ายผงชอล์ก
อาหารที่มีกรดยูริคสูง
ได้แก่ เหล้า,เบียร์,เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ,ไต,สมอง และอาหารทะเล และยังมีประเภทของอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ขนมเค้ก,ขนมปัง,น้ำหวาน,น้ำผลไม้ที่มีรสหวาน อาจเพิ่มระดับของกรดยูริคในเลือดได้ ส่วนสัตว์ปีกและสัตว์เนื้อแดงที่มีปริมาณไขมันน้อย ไม่จำเป็นต้องงด ยกเว้นในผู้ป่วยรายที่มีประวัติว่ามีการกำเริบชัดเจนหลังรับประทานอาหารดังกล่าว สำหรับอาหารมังสวิรัติ และผักส่วนใหญ่ที่มีปริมาณกรดยูริคค่อนข้างน้อย สามารถรับประทานได้ตามปกติยารักษาโรคเกาต์ มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
- ยาควบคุมอาการข้ออักเสบ เพื่อป้องกันการกำเริบของข้ออักเสบ ได้แก่ ยาโคลซิซีน
- ยาควบคุมระดับกรดยูริค ประกอบด้วยยาลดการสร้างกรดยูริค และยาเพิ่มการขับกรดยูริคทางไต โดยแพทย์จะให้ยากลุ่มนี้เมื่อข้ออักเสบหายดี และปรับขนาดยาจนคลุมระดับกรดยูริคได้ โดยแพทย์จะให้ยาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ การใช้ยาจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเลือกแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงและอาจมีผลกระทบต่อยาบางชนิด
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ มีดังนี้
- พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลการรักษา
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ การหยุดยาเองหรือรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ,การดื่มเหล้าเบียร์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริคสูง เช่น เครื่องในสัตว์ และอาหารที่มีไขมันสูง
- รักษาโรคร่วมและดูแลสุขภาพ ที่สำคัญได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง,เบาหวาน,ไขมันสูง,โรคหัวใจ,นิ่วในไต,โรคอ้วน และควรงดสูบบุหรี่