21/10/55

หม่ำขวดนมแบบไหนฟันถึงไม่ผุ

ว่ากันว่าเด็กที่กินนมจากขวดนั้น มีโอกาสที่จะฟันผุได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กที่คุณแม่ปล่อยให้ดูดนมก่อนนอนจนหลับทั้งๆ ที่ขวดนมยังคาอยู่ที่ปาก จะมีปัญหาเรื่องฟันมากที่สุด ถ้าอย่างนั้น มาหาวิธีหม่ำนมขวดโดยไม่ให้ฟันผุกันดีกว่า


ให้นมขวดอย่างอบอุ่น 
สำหรับทารก การได้ดูดนมจากอกแม่จะเป็นสิ่งสุดวิเศษ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหากต้องดูดนมจากขวดแล้วจะทำให้เขาขาดความอบอุ่นขึ้นกับวิธีการในการให้นมของคุณแม่มากกว่า ดังนั้น คุณแม่สามารถปั๊มนมใส่ขวดป้อนลูกได้ค่ะ  กุมารแพทย์ชาวเยอรมัน ให้คำแนะนำแก่คุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมขวดว่า หากคุณแม่ให้ความใกล้ชิดกับลูกขณะเขาดูดนมขวด ความรู้สึกที่ลูกได้รับ ก็แทบไม่ต่างจากที่เขาได้ดูดนมจากอกแม่สักเท่าไหร่ เพราะแท้จริงแล้วความห่างเหินเกิดจากการที่คุณแม่มักปล่อยลูกไว้กับนมขวดต่างหาก  ดังนั้น เวลาให้นมขวดแก่ลูก คุณแม่ควรประคองขวดนมไว้ด้วยมือตัวเอง อย่าปล่อยหน้าที่นี้ให้เป็นของผ้าห่ม หรือปล่อยให้เค้านอนดูดนมตามลำพังเป็นอันขาด นอกจากนี้ควรขยับใบหน้าให้ใกล้ชิดกับลูก และพูดคุยกับเขาด้วย
ดูแลช่องปากลูกอย่างสม่ำเสมอ 
เนื่องจากเด็กเล็กจะดูดนมบ่อยมาก แม้ในช่วงที่ฟันยังไม่ขึ้นคุณแม่ก็ควรทำความสะอาดลิ้นและเหงือกให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ หากไม่ทำความสะอาดช่องปากให้เด็กเลย คราบน้ำนมที่ค้างอยู่ในปาก จะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นในช่องปากของลูก ส่วนมากมักเป็นที่ลิ้น โดยจะเห็นเป็นฝ้าขาวซึ่งขูดไม่ออก เวลาดูดนมบางครั้งลูกอาจเจ็บลิ้นได้ ถ้ามีฝ้าขาวลิ้นมากๆ ต้องปรึกษาแพทย์ จะได้รับยาชนิดทามาช่วยกำจัดเชื้อรา 
เมื่อลูกอายุได้ 5 - 6 เดือน เขาจะชอบเอาของต่างๆ ใกล้ตัวที่คว้าได้ เข้าปากแล้วเคี้ยวๆ ด้วยความมันเขี้ยว และจะมีน้ำลายออกมามากกว่าปกติ เนื่องจากลูกมีอาการเจ็บๆ คันๆ เหงือก เพราะฟันจะเริ่มดันและโผล่ออกจากเหงือกแล้ว ในช่วงนี้สันเหงือกของลูกจะดูนูนๆ กว่าปกติ ถ้าคุณแม่ลองคลำๆ ดู จะรู้สึกว่ามีอะไรแข็งๆ อยู่ใต้เหงือกแล้ว ถึงเวลานี้คุณแม่ต้องยิ่งใส่ใจกับการทำความสะอาดช่องปากของลูกให้มากขึ้นค่ะ 

วิธีการง่ายๆ ที่คุณแม่ทำได้         
วิธีการทำความสะอาดช่องปากลูกก็ไม่มีอะไรยุ่งยากค่ะ เพียงเตรียมน้ำต้มสุกอุ่นๆ, แปรงนุ่มๆ สำหรับแปรงเหงือกลูก ชนิดที่เป็นยางสำหรับสวมที่นิ้วคุณแม่ ถ้าไม่มีใช้ผ้าก็อซ แทนได้ค่ะ จับลูกนอนบนตัก ถ้าคุณถนัดมือขวา ให้พันผ้าก็อซไว้ที่นิ้วชี้ด้านขวาและจับลูกนอนหันศีรษะไปทางซ้ายของคุณ เริ่มทำความสะอาดโดยจุ่มนิ้วที่พันผ้าก็อซไว้ลงในน้ำต้มสุกอุ่นแล้วนำผ้าก็อซไปเช็ดในช่องปากของลูกให้ทั่ว คือ ที่กระพุ้งแก้ม, บนลิ้น, ใต้ลิ้น, สันเหงือก, เพดานปาก ทำอย่างนี้วันละ 2 ครั้ง หลังมื้อนมตอนเช้ากับหัวค่ำ 
ประโยชน์อีกอย่างของการทำความสะอาดช่องปากให้ลูกอย่างสม่ำเสมอก็คือ ลูกจะเคยชินกับการมีเครื่องมือเข้าไปทำความสะอาดช่องปาก ซึ่งพอโตขึ้นลูกจะยอมรับแปรงสีฟันได้ง่ายอีกด้วย
หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://motherandchild.in.th/content/view/1116/1/